0






"ผมโดนมาหลายครั้งแล้ว ไม่เป็นไรผมทนได้ ให้อภัยได้ แต่ผมก็จำไม่ได้แล้วว่าใครทำผมบ้าง ครั้งนี้ผมสลบไปเลยไง บางทีมาเตะผมแล้วก็วิ่งหนีไป แต่ทุกคนที่นี้เขารักผมนะ เพราะผมเป็นคนดีไง"

ผู้ป่วยข้างถนนที่ถูกทำร้ายร่างกายคนหนึ่งกล่าวไว้
โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา


คลิปกับรูปถึงแม้จะไม่ตรงกันแต่มันคือความจริงของสังคมไทยครับ
อย่าคิดไปเองว่าโลกนี้มันสวยงาม





...ถ้าเขายังต้องอยู่ตรงนั้น
การต้องอยู่ข้างถนนของผู้ป่วยข้างถนนน้อยที่สุดคือโดนทำร้าย มากที่สุดคือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ แต่ที่ตลอดไปคือคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำย่ำแย่อย่างยาวนานจนเสียชีวิต





ท่ามกลางเสียงรถราบนถนนที่ดังอย่างมากในขณะที่ลงพื้นที่คุยกับผู้ป่วยข้างถนนรายหนึ่ง คำพูดที่พอฟังได้ศัพท์ในขณะที่พูดคุยได้บ้างมีอยู่ว่า...
-เมื่อเราถามชื่อของเธอ "จำไม่ได้หรอกว่าชื่ออะไร" 
-เมื่อถามถึงบ้าน "ซื้อไม้กระดานมา แต่ไม้กระดานไหม้ไปหมดแล้ว"




ว่าด้วยเรื่องปัจจัย 4...
-ปัจจัยที่ 1 อาหารของพวกเขา ผมจำได้แม่นยำกับบทสนทนาว่าด้วยการกินกับผู้ป่วยข้างนนรายหนึ่ง เธอว่า“ไม่เคยได้ซื้อกินหรอก หาจากถังขยะตลอด”...



อาการเปล่งเสียงพูดคุยค่อนข้างลำบาก อดข้าวนานหลายวันเป็นสาเหตุ วิธีสื่อสารของผู้ป่วยคือ การเขียน 

//วันนี้คุณลุงได้รับการรักษาแลัว



ป้าแกบอกว่า น้ำแก้วนี้เปรี้ยวดี แกชอบ จากบทสนทนาที่ไม่ค่อยตรงคำถาม แฝงไปด้วยบทวิจารณ์รสชาติอาหารทั้งผัด ต้ม ทอด นึ่ง แกชอบพูดถึงร้านอาหารที่นั่นที่โน่น ตรงนี้อร่อยตรงนั้นไม่อร่อย นี่คือผู้ป่วยหลงทางที่มีความทรงจำที่ดีด้านอาหาร เราเรียกป้าแกว่า "ผู้เชี่ยวชาญด้านความอยู่รอดของปากท้อง"



เขียนด้วยความจริงเล่าถึงความเป็นอยู่
ชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งบวกอาการป่วยจิต
ค่อนข้างสูงอายุกินอยู่หลับนอนข้างถนน
เธอพูดคนเดียวถามตอบไม่ตรงคำถาม
สลับเสียงหัวเราะดังกังวานบางทำนอง
ในวันนี้...
เธอได้ลิ้มรสก๋วยเตี๋ยวชามใหญ่รสชาติดี
เร็วๆนี้...
เธอจะได้รับการช่วยเหลือเข้าระบบรักษา





วาดบ้านวาดทะเลสองสถานที่ที่ผู้รับบริการในสถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งวาดเขียนถึงมากที่สุด... #กิจกรรมแฟชั่นสัญจรครั้งที่1 #กิจกรรมถอดชีวิตด้วยการวาด— ที่ สถานแรกรับคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี




ชายไร้บ้าน เดินถือแก้วน้ำที่ได้มาจากการกินเหลือของใครบางคนที่เพียงผ่านทางไป เขาก้าวเท้ามาตามทางฟุตบาทราชดำเนิน สายตาลดต่ำลงเมื่อพบกับชายไร้บ้านผอมโซมีท่าทางป่วยไข้ เขาสะกิดชายที่ป่วยเพื่อให้รับแก้วน้ำที่บรรจุของเหลวที่แปรสภาพไปแล้วในชื่อที่เรียกว่าน้ำใจ ชายไร้บ้านวางแก้วน้ำไว้ข้างๆชายไร้บ้านที่ผอมโซ จากนั้นชายไร้บ้านก็ตัดสินใจเดินผ่านชายไร้บ้านผู้ป่วยไข้นั้นไปแต่ใบหน้ายังหันกลับมาดูพร้อมแววตาที่ลังเล เมื่อหันหน้ากลับไปเขาเริ่มเดินผ่านฝูงผู้คนที่ไม่ได้สนใจอะไรอื่นที่อยู่นอกเหนือระดับที่ต่ำกว่าสายตาตัวเอง...

ทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้ป่วยข้างถนนนั้น หลากหลายมีทั้งบวกและลบ การปลูกจิตสำนึกว่าผู้ป่วยนั้นต้องได้รับการรักษาเยียวยาและฟื้นฟู จึงจำเป็นต้องให้ความรู้และความเข้าใจตั้งแต่วัยเยาว์
#อาสาสมัครคนนี้เธออายุเพีย 15 ปี เธอเรียกคนบ้าว่า "ผู้ป่วย"


ความต้องการพื้นฐานของผู้ป่วยข้างถนน ก็คือ ความใส่ใจของคนในสังคม อย่างน้อยขอเพียงสายตาที่เป็นมิตร


ชายคนนี้เล่าว่าตัวเองเดินทางผ่านโลกมาแล้ว156โลก ร่างที่คุณเห็นไม่ใช่ร่างเค้า ร่างเค้าเตะฟุตบอลอยู่เป็นชาวเยอรมัน ตอนนี้เสียค่าเก็บร่างเป็นล้านเก็บอยู่แถวลาดพร้าว ร่างที่เค้าอาศัยอยู่ชื่อไอ้หนุ่ม ชื่อร่างจริงๆแล้วชื่อ "จอน เทวิน"

ฟังแล้วอาจอมยิ้มขำๆ...แต่เรื่องที่ไม่ขำก็คืออาการนี้เป็นอาการป่วยจิตเภทขั้นรุนแรงและพ่วงความเรื้้อรังของโรคไปอีก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการไม่ได้ถูกรักษาในขณะที่ไม่รุนแรง

อาจถามต่อไปว่าทำไมถึงมีการปล่อยไว้แบบนี้ คำตอบที่บอกได้ก็คือไม่มีหน่วยงานหลักที่มีทักษะที่รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลืออยู่เลยในประเทศนี้ จะมีหน่วยงานที่เข้ามาจัดการปัญหาก็ตอนที่พวกเขาอาละวาดหรือได้รับอุบัติเหตุเชี่ยวชนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพียงเท่านั้น และมันเป็นเพียงเท่านั้นจริงๆ...


เหตุเกิดหน้าโรงพยาบาลหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
ชีวิตหนึ่งกับความเจ็บป่วยข้างถนนที่ไร้ความช่วยเหลือ
"การเห็นอาจใช้ตามอง แต่การให้ความช่วยเหลืออาจต้องใช้หัวใจ"




7 เดือนกับการใช้ชีวิตข้างถนน ทำให้คุณภาพชีวิตและจิตใจของเขาแย่ลง จากที่เคยอาบน้ำบ้างกลับมีเนื้อตัวมอมแมม ผมเผ้าเริ่มรุงรัง จากที่เคยพูดคุยรู้เรื่อง กลับถามตอบไม่เป็นข้อความ อีกทั้งพฤติกรรมการพูดไปร้องไห้ไป การปล่อยให้เค้าเผชิญชีวิตเช่นนี้ต่อไป สภาวะป่วยทางจิตหนักขึ้นแน่น่อน การฟื้นฟูก็จะเป็นเรื่องยากอีกเช่นกัน... //การลงพื้นที่ครั้งนี้แม้เราอาจทำได้แค่การทักทาย แต่อย่างน้อยได้ทำให้คนในชุมชนนั้นได้เข้าใจ และยอมรับในตัวเขามากขึ้น 


อีกครั้งกับการลงพื้นที่ ความเป็นเพื่อนทำให้ชายหนุ่มคนนี้พูดคุยมากขึ้น และการเยียวยาเริ่มมีความหวัง จิตใจของเขาเริ่มเปิดรับการช่วยเหลือ เนื่องจากก่อนลาเขาพูดคำว่า ขอบใจน่ะ
---และวันนี้พวกเราจะลงพื้นที่เพื่อไปพูดคุยกับเขาอีกค่ะ










วันนั้นเจอเธอด่าและเธออยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ แต่วันนี้ได้นั่งคุยข้างๆ เริ่มต้นจากข้าวพัดกระเพราไก่ และน้ำเปล่าอีกหนึ่งขวด...แล้วเรื่องราวจากเธอก็ถูกเล่าอย่างไม่รู้จบ...เราอยากเห็นเธอหายป่วย...ผู้ป่วยข้างถนน...

ริ้วรอยบาดแผลที่เห็นไม่แน่ใจในสาเหตุ แต่ริ้วรอยที่กลับปรากฎชัดเป็นริ้วรอยในใจที่เกิดจากปัญหาทางครอบครัว มันคือสิ่งที่เธอเล่า และมันส่งผลในชีวิตไร้บ้าน พร้อมอาการทางจิตของเธอ เธอคือคนป่วย...ผู้ป่วยข้างถนน...

มีบ้านที่ญี่ปุ่น...แต่ไร้บ้านที่เมืองไทย...ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย(ข้างถนน).
โดนสาวหลอกเกือบหมดตัวเลยช็อกและมีอาการทางจิต แต่ก่อนเคยทำงานวิศวะกรทำรถไฟฟ้าใต้ดินที่บ้านเรา ตอนนี้นอนเร่ร่อนอยู่แถวหน้าคอนโดที่เคยพัก แกอยู่แถวย่านรัชดาครับ



"ผมไม่เป็นไร หายดีแล้วครับ"

นี่เป็นคำตอบจากชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่นั่งน้ำตาคลอเบ้าอยู่ข้างถนน 
//บ่ายวันนี้ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน และน้องๆฝึกงานมูลนิธิกระจกเงา ได้ลงพื้นที่สำรวจเคสตั้งแต่ซอยรามคำแหง 12-24 พวกเราพบเพียงชายหนุ่มคนหนึ่ง เคสนี้เมื่อวันก่อนเราเคยเข้าไปคุยด้วยแล้วและได้ประเมินกันว่า เขามีอาการทางจิต วันนั้นเขายังยิ้มให้เราอยู่เลย// แต่วันนี้เขากลับนั่งเอามือกุมเข่า นัยตามีน้ำตาคลอเบ้า และสวมเสื้อผ้าชุดเดิมสภาพดูมอมแมม ซึ่งเกิดจากการนอนบนดินกินกลางทรายมานานหลายวันนั่นเอง และเรามองออกเลยว่าเขากำลังร้องให้// เบื้องต้นเรายังไม่กล้าเข้าไปถามเขาตรงๆว่า "พี่ร้องให้ทำไม" เกรงว่าเขาจะหงุดหงิดและอาละวาดใส่ จึงตัดสินใจสอบถามแม่ค้าแถวนั้นก่อน คำตอบคือ เมื่อวานมีคนเก็บขยะขาย 2 คนรุมทำร้ายเขาโดยเอาไม้ไล่ตี เขาได้พยายามต่อสู้แล้วแต่ก็เกินความสามารถ// ด้วยความเห็นใจเราจึงเข้าไปถามเคสว่า " พี่เป็นอะไรมากมั้ย ได้ข่าวว่าพี่โดนตี ให้พวกเราช่วยอะไรป่าว"

คำตอบคือ "ผมไม่เป็นไร หายดีแล้วครับ พี่มาเดินเล่นแถวนี้เหรอ" เขาพูดพร้อมเอามือปาดน้ำตา และดูท่าน่าจะจำเราได้

กรณีนี้เราไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย นอกจากการถามไถ่ทุกข์สุข การแสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใย และก็ได้แต่หวังว่า เขา(ผู้ป่วยข้างถนนคนนี้)จะอยู่รอดปลอดภัยและหวังว่าจะไม่มีใครไปทำร้ายโดยที่เขาไม่มีทางสู้เช่นนี้อีก และที่สำคัญคือ //มันเป็นปัญหาที่ทางโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงานั้นพยายามคิดหาวิธีสร้างความปลอดภัยให้แก่กลุ่มเป้าหมาย นั้นคือการสร้างความเข้าใจระหว่างคนในชุมชนกับเคสผู้ป่วยข้างถนน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่เหมือนกัน


เค้าป่วยหนัก...แต่เตียงคนไข้ของเค้าอยู่ข้างถนน...


จัดว่าเป็นช่วงแห่งเดือนผู้สูงอายุ แต่มีหลายชีวิตชรายังไม่ได้กลับบ้าน พลัดหลงกับครอบครัว ใช้ชีวิตอยู่ริมข้างทาง นอนหมดลมหายใจไม่มีคำสุดท้ายที่ฝากฝังถึงลูกหลานคนใด เพราะท้องถนนใหญ่ไม่สามารถเป็นบ้านที่อบอุ่นของใครได้...ดังนั้นในช่วงเดือนผู้สูงอายุนี้ ชีวิตชราเหล่านี้ควรได้รับการดูแลเท่าๆกับชีวิตชราคนอื่นๆใช่หรือไม่


เราอาจเห็นว่าเธอทำเรื่องผิดปกติในความปกติของเรา...เพราะเราคิดเองว่าคนบ้าคนเพี้ยนต้องทำอะไรผิดปกติทุกอย่างไป...แต่ที่ผิดปกติจริงๆอาจเป็นเราที่ปล่อยให้เธอพบเจอชะตากรรมอย่างเดียวดายบนท้องถนน...

แสดงความคิดเห็น

 
Top